วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

บันทึกประสบการณ์ชีวิตและการทำงานวิจัยแลกเปลี่ยนที่ NII กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น






บันทึกประสบการณ์ชีวิตและการทำงานวิจัยแลกเปลี่ยน
ที่ NII กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น


ระหว่าง 31 กรกฏาคม 2555 – 23 มกราคม 2556  
ของ นายกิตติ ขุนสนิท


ทำยังไงถึงได้มาที่นี่


ด้วยความที่อยากจะมาต่างประเทศมากมาก เลยพยายามค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตก็พบว่า สถาบันที่ไทยที่ตนเองทำงานอยู่ได้มี MOU แลกเปลี่ยนนิสิตกับ National Institute of Informatics (NII) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยที่เราสามารถไปทำวิจัยได้ที่ NII ได้ถึงหกเดือนเต็ม (เราไปสองรอบ=1ปี) พร้อมกับ NII มีเบี้ยเลี้ยงให้บางส่วน แต่ค่าตั๋วบินต้องออกเองนะ เราก็เลยอยากจะมาทำวิจัยแลกเปลี่ยนที่นี่มาก  ส่วนรายละเอียดการสมัครก็  http://www.nii.ac.jp


 
 
 
 




 
 


จึงเริ่มดำเนินการด้วยตนเอง ตั้งแต่กรอกใบสมัคร ส่งใบสมัคร   เมื่อทาง NII ตอบรับก็  ติดต่ออาจารย์ชาวญี่ปุ่น โดยพูดคุยกันล่วงหน้าถึงหัวข้อวิจัย หลังจากนั้น  ก็ติดต่อ TGIST  เพื่อขอทุนช่วยเหลือค่าตั๋วเครื่องบิน 


 
 
 


ต่อ มาเราก็มาทำการจองตั๋ว การหาที่พัก  การจองที่พัก เตรียมหลักฐานต่างๆ การทำวีซ่า  ตลอดจนการเตรียมหาข้อมูลการดำรงชีวิตต่างๆเพื่อให้เราสามารถไปอยู่ที่โตเกียวได้อย่างราบรื่น และขอบคุณอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับข้อมูลต่างๆมากล้น จนทำให้เราได้มาวิจัยที่นี่อย่างราบรื่น







งานวิจัยที่นี่ทำอะไร


งานวิจัยที่นี่มีงานวิจัยหลายอย่างมาก เราก็มีโอกาสที่จะเลือกทำ แต่ทางอาจารย์ชาวญี่ปุ่นซึ่งชื่อว่า Kitamoto ก็ให้โอกาสเราเลือกงานวิจัย และท่านก็ให้โอกาสเราเข้าร่วมโปรเจคที่แจ๋วๆ เป็นการซ้อนทับภาพทางการแพทย์  ซึ่งเป็นงานวิจัยของสถาบันพันธุศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่น อยู่นอกโตเกียว ต้องนั่งชินคังเซนไป เวลาไปประชุม




 

 นับว่าเป็นโอกาสดีของเรามากที่ท่านอาจารย์ญี่ปุ่นได้เลือกเรา  และให้โอกาสเรารับงานจาก องค์กรภายนอก  National Institute of Genetics  ตลอดช่วงเวลาการทำวิจัยก็จะมีการนัดประชุมรายสัปดาห์ซึ่งเราก็ต้องนำเสนอความก้าวหน้าต่ออาจารย์ชาวญี่ปุ่น 



ซึ่งท่านก็จะแนะนำวิธีต่างๆนานาที่จะแก้ไขปัญหา และพร้อมที่จะลงลึกไปกับเรา  ในช่วงแรกงานเดินช้ามากเพราะว่า โปรแกรมที่เราทำมีปัญหาต่างๆนานา แต่ก็พยายามทำมันจนสำเร็จจนได้ ซึ่งงานที่เราทำคืองานการสร้างระบบการซ้อนทับทางการแพทย์สำหรับภาพตัวอ่อนหนูได้สำเร็จ  ซึ่งปกติจะมีหลายวิธีมาก เราก็ได้ศึกษาขั้นตอนต่างๆ จนสำเร็จบรรลุผล ด้วยความพยายาม



 
 
 

 

 
 


 


การเดินทาง


การเดินทางมาวิจัยที่โตเกียว เราใช้การบินตรงด้วยสายการบินไทยซึ่งราคาก็ราวราว 20,000-30,000 บาท   ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาจอง แต่มีข้อแนะนำว่า ถ้าอยากได้ราคาที่ถูก ก็สามารถใช้สายการบินที่มีการแวะ transit ก็ได้ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง หรือ ปักกิ่ง ก็จะทำให้เราจ่ายน้อยลง แต่เราก็จะเหนื่อยมาก 



แต่ก่อนเคยบินมาโตเกียวด้วย Air China ราคาถูกดี โดยแวะ transit ที่ปักกิ่ง  แต่มันเป็นอะไรที่เหนื่อยจริงๆ เพราะว่า ระยะเวลาการเดินทางที่นานขึ้น ทำให้อ่อนเพลีย ซึ่งครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนค่าเดินทางจาก TGIST จึงได้บินการบินไทย ทำให้เราสะดวกไม่ต้องเปลี่ยนเครื่อง



อาหาร


เมื่อมาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง เราก็ควรที่จะต้องทำอาหารกินเอง หอพักที่อยู่นั้นมีอุปกรณ์ครัวและเตาแม่เหล็กไฟฟ้าให้ เราก็สามารถใช้ประกอบอาหารได้เลย ไม่ว่าจะเป็นผัดกะเพรา ผัดไทย ไข่เจียว ผัดสปาเกตตี้ ผัดยากิโบะ ต่างๆ อีกหลายเมนูไม่เคยทำที่ไทยก็ได้มาโชว์ฝีมือที่นี่ ก่อนมาญี่ปุ่นนี้ พี่หนิง อุไรแห่ง TGIST ก็ได้ให้เราไปเทรนทำอาหารไทยซึ่งเป็นประโยชน์มาก โดยปกติเราจะเน้นทำกินเองนี่แหละ ทั้งถูกปาก ถูกราคา และมันก็มีความสุขนะที่ได้ทำอาหาร ทำเอง  กินเอง


 เนื่องจากโตเกียวได้ถูกจัดอันดับค่าครองชีพแพงที่สุดในเอเชียและอันดับต้นๆของโลก  ดังนั้นเราจึงมีเทคนิคการประหยัด ก็คือว่า โดยส่วนมากของสดเช่น ผักสด หมู ไก่  ปลา ที่ญี่ปุ่นตาม super market จะลดราคาหลัง 20:30 หรือ 21:00 เป็นต้นไป  เราก็สามารถจ่ายตลาดได้ช่วงเวลานี้ เพื่อเตรียมวัตถุดิบมาประกอบอาหารในรุ่งเช้า





 
 ถ้าซุปเปอร์มารเก็ต Ozeki จะลดราคาเวลา 20:30 น. แต่ถ้าเป็น ซุปเปอร์มารเก็ต Life ก็จะลดตอน 21:00 น. ซึ่งของที่ลดยังเป็นของที่มีคุณภาพอยู่ ไม่ใช่คุณภาพด้อยเหมือนโลตัสหรือบิ๊กซีบ้านเรา   



 
ซึ่งของญี่ปุ่นนี้จะติดป้ายลดราคา 40-50% เลยทีเดียว เราเลยได้ทานแซลมอลเนื้อดี  หรือซูชิคุณภาพดี ซาซิมิ อร่อยเหลือหลาย ในราคาที่สบายกระเป๋าได้ทีเดียว


 
 
 


   อาหารการกินจะมีหลายหลากตามความหนักของกระเป๋าของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล่องเบนโตะ ที่ขายตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ ทั้ง Lawson  Seven หรือ Mini stop ราคาก็เริ่มที่ 180 บาทไทยต่อหนึ่งกล่อง





หรืออาหารจานเดียวที่ขายโดยตู้หยอดเหรียญมีทั้งข้าวราดแกงกระหรี่ คาเระ คัตสึคาเระ หรือ โซบะ หรือ ราเมน ซึเคเมน (ซึเคเมน : ราเมนแบบแยกน้ำ รสชาติมันมันคล้ายน้ำยากะทิ) เมื่อเราหยอดเหรียญเสร็จก็จะได้คูปองนำคูปองนี้นำไปให้คนขาย คนขายก็จะเสริฟอาหารมาให้เรา พร้อมน้ำซุบ ราคาก็เริ่มที่ 180-200 บาทไทยต่อมื้อ
 









การท่องเที่ยว


นอกจากการวิจัยที่ทำงานเป็นปกติ  วันหยุดก็จะหาเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ  ด้วยความเป็นคนที่ชอบช็อปปิ้ง ย่านชินจุกุ เป็นย่านที่มีของขายเยอะมาก เสาร์อาทิตย์ก็ไปดูของที่ไดโซะ Donki ร้าน Uniqlo และ g.u.  ตลอดจนร้านร้อยเยนต่างๆ ร้านมือสองก็น่าสน






เสาร์อาทิตย์ เราก็มักจะวางแผนไปเที่ยวกัน ซึ่งญี่ปุ่นการเดินทางจะสะดวก เนื่องจากเดินทางโดยรถไฟที่วางเครือข่ายได้อย่างเยี่ยมยอด ซึ่งโชคดีมากได้มีเพื่อนสนิทจากไทยมาเป็นล่ามที่นี่  จึงได้ตลุยและตะลอนเที่ยวกันแบบสนุกสนาน ทั้งในโตเกียว นอกโตเกียว กันทีเดียว

  




ที่พัก


ที่พัก เราได้ติดต่อเช่าผ่านทาง บริษัทบ้านเช่า ซึ่งเขาจะให้เราจองก่อนผ่านเว็บ แล้ววันที่เราไปถึงโตเกียว เราค่อยไปรับกุญแจจากบริษัทบ้านเช่า  ค่าเช่าที่นี่เป็นอะไรที่แพงมาก เช่นห้องธรรมดามากมีแค่เตียงกับโต๊ะ และห้องน้ำอยู่ข้างนอกห้อง โดยแชร์กันกับห้องข้างๆ ก็ ตกราคาต่อเดือน 60,000-70,000 เยน (21,000 - 24,500 บาท)  





(เอา 0.35 คูณเข้าไปก็จะกลายเป็นเงินบาท) แต่ถ้าต้องการห้องน้ำส่วนตัว ก็จะอยู่ที่ 80,000 – 90,000 เยน (28,000 – 31,000 บาท)  เลยทีเดียว  ราคาพวกนี้จะเป็นราคารายเดือนที่รวมหมดทุกอย่างทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ซึ่งเขาจะคิดราคาอยู่ในค่าเช่าไปแล้ว  






   ปกติบริษัทบ้านเช่าพวกนี้ที่นิยมเช่ากันก็คือ บ. sakura house เป็นบริษัทที่ใหญ่ ครอบคลุมหลายพื้นที่  มีห้องหลากราคาให้เลือกเยอะ สามารถดูทำเลได้จากเว็บของบริษัท อีกบริษัทที่ดูอบอุ่นคือ Oak house และก็มี Borderless house ก็มีให้เยอะเช่นกัน สองบริษัทหลังจะรับคนญี่ปุ่นเข้ามาพักด้วย แต่ซากุระเฮ้าส์จะรับคนทุกชาติยกเว้นญี่ปุ่น 


 

 เราเลือกอยู่ที่ sakura house แถว morishita station (S12) ซึ่งอยู่ในเขต Koto ห่างจาก NII ตำแหน่ง jimbocho station (S6) เพียงนั่งรถไฟใต้ดินสายสีเขียวเพียง 5 สถานีเท่านั้นสำหรับเดินทางไปทำงาน ค่าเดินทางก็ 170 เยนราวราว 50 บาท  




ใช้เวลาเดินทางบนรถไฟราวราว 12 นาที แต่เนื่องจาก บ้านที่เราพักอยู่ในซอยลึก เราต้องเดินเท้าออกมาจากซอยเพื่อมาขึ้นรถไฟอีก 15 นาทีได้ ดังนั้นก็จะใช้เวลาราวราวครึ่งชั่วโมงสำหรับการเดินทางไปทำงาน



มิตรภาพและวัฒนธรรม

คนญี่ปุ่นในความคิดส่วนตัว  เป็นอะไรที่ประทับใจมาก ทั้งวัฒนธรรม และการแสดงออกที่เรียบร้อย น่ารัก สุภาพ อ่อนโยน เวลาไปซื้อของที่ร้าน การต้อนรับ การบริการนี้ยอมรับจริงๆเลยว่าสุดยอดมาก  เช่นตอนไปกินสุกี้ จะเติมน้ำในหม้อ เขาก็ต้องป้องมือกันน้ำกระเด็น  หรือแม้กระทังเราสอบถาม และการแนะนำสินค้าต่างๆ เขาก็ช่วยเหลืออย่างเต็มที่   
 

  แม้เราจะฟังญี่ปุ่นไม่เข้าใจก็ตาม เขาก็พยายามที่จะช่วยเหลือ ด้วยความพยายามแบบสุดๆ คือเราคิดมันคงการแสดงออกของเขาที่ชัดเจนมาก เวลาเจอสินค้าน่ารัก เขาก็อุทานว่า คา วา อ หรือ สุโก้ย มันจึงเป็นลักษณะอาการ appreciate ที่เขาแสดงออกมาจนเขาเคยชินไปแล้ว 



 

หรือคำว่า อาริคาโตะ ที่ได้ยินอยู่เสมอ  
คำว่า ซูมิมาเซน  รบกวนด้วยครับ   
คำว่า โกเมนนาไซ ขอโทษด้วยครับที่ผมทำผิด    
อาริมาเซน แปลว่า ไม่มีครับ   
โคเระ คุดาไซ  แปล เอาอันนี้  กรุณาขอรับ 
อิรัชชิมาเซน  ยินดีต้อนรับ
 
ด้วยลักษณะภาษาที่อ่อนน้อม จึงไม่แปลกใจที่คนไทยเกือบทุกคนที่ได้มาที่นี่จะหลงเสน่ห์ ความมีน้ำใจ โอบอ้อมอารี ของคนญี่ปุ่นที่นี่
 




ระวังแผ่นดินไหว


วันที่ 7 ธค 55 เวลาท้องถิ่นราวราวเย็นๆค่ำๆ แผ่นดินไหวราวราว 7.3 ริกเตอร์ นอกชายฝั่ง ที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น แต่มันสะเทือนมาถึงโตเกียว จนเราต้องวิ่งออกมา เพราะว่าห้องนอนที่เราอยู่ชั้นหนึ่ง  แต่ก็ไม่มีอะไรมาก  แม้เดือนก่อนหน้านี้จะรู้สึกรับรู้การเกิดแผ่นดินไหวอยู่หลายครั้ง แต่วันนี้ ครั้งนี้ก็ชัดเจนมาก  เราอยู่ข้างนอกตัวอาคารพบว่าสายไฟที่ห้อยระย้าบนเสาไฟฟ้าสองเสามันสั่นไหว แกว่งประหนึ่งคนเล่นโดดเชือกอย่างสนุกสนาน มันน่ากลัวเหมือนกัน 



 เรายืนอยู่ถนนหน้าบ้าน เราก็รับรู้ได้ว่ามันสั่นที่พื้นที่เรายินอยู่ จนหน้าเวียนหัวเลยทีเดียว มันสั่นราวราว 5 นาที ซึ่งมานานมากสำหรับความรู้สึกตอนนั้น เมื่อหยุดเราก็กลับเข้ามาในตัวบ้าน แล้วก็ใช้ชีวิตตามปกติ อาจารย์ชาวญี่ปุ่นเคยบอกเราว่า ที่ญี่ปุ่นไม่มีที่ไหนปลอดภัยหรอก อุ๊แม่เจ้า



สกีครั้งแรก

การเล่นสกี โดยเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด  รวมทั้งค่ารถไปกลับ ค่าห้องนอนรวมสองคืน รวมอาหารเช้าและเย็น ค่าเช่าสกี ค่าชุดสกี ค่าแว่นตา ค่าบัตรขึ้นกระเช้า ก็รวมทั้งหมดก็ราวราว 30000 เยน ก็ราวๆ 11,000 บาทไทย ถือว่าไม่แพงเลยสำหรับราคานี้ในญี่ปุ่น







 ต้องขอบคุณที่จัดกิจกรรมทำให้เราได้รัประสบการณ์การเล่นสกีครั้งแรก กับทริป 3 วัน 2 คืน   แม้ว่าเราจะไปคนเดียว  ไม่รู้จักใครแต่ก็ได้รู้จักเพื่อนใหม่ สนุกสนานมาก ได้รู้จักกัลยาณมิตรทั้ง พี่แม็ก พี่อุ้ม  วันแรกที่เริ่มเล่นสกีก็มีล้มบ้างอะไรบ้าง แต่วันต่อๆมากแล้วก็ได้ลองเล่นสกีแบบตีโค้งได้ แค่นี้ก็ดีใจแล้ว
ส่วนแผ่นบอร์ดนั้น เรามองว่าอาจจะยากไปหน่อย แต่บางคนก็บอกว่าง่าย แต่ในความคิดเรา  เราคิดว่าถ้าใครเล่นบอร์ดได้แล้ว มันจะดูเท่ดีนะ ว่ามะ


 




หิมะตกที่บ้าน



วันที่ 14 มกราคม 2556 โอ้วันนี้ตื่นสายด้วยอากาศหนาวผิดปกติ ก็เลยนั่งทำงานในห้อง พอดีมีเพื่อนในชั้นเดียวกัน มาเคาะห้องบอกว่าหิมะตก โอ้พระเจ้า ช่างเป็นบุญตาจริงๆ แต่เดิมปกติหิมะจะเริ่มตกต้นๆเดือนกุมภา คิดว่าเราคงไม่ทันได้สัมผัสแล้ว  แต่ไหงปีนี้มาไวจริง โชคช่างเป็นของเราจริงๆ ได้รับสัมผัสหิมะแรกแห่งปี  2013





และได้ดูข่าวบอกว่าวันนี้พยากรณ์อากาศบอกว่าเหมือนพายุหิมถล่มโตเกียวหนักสุดในรอบ 4 ปี   ช่วงแรกหิมะตกก็ไม่หนาวเท่าไหร่แต่พอหิมะตกลงนานขึ้นเรื่อยๆ ก็หนาวมากมาก อุณหภูมิตอนนั้นคาดว่าติดลบแน่ๆ  สรุปวันนั้นตกตั้งแต่ 11 โมงถึงค่ำเลย เลยออกไปสำรวจในระหว่างหิมะตกมาให้ดูกัน



  








บทสรุปส่งท้าย

การมาวิจัยครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์ ถือเป็นโอกาสอันดีของการได้ร่วมวิจัยงานวิจัยในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่กับ  National Institute of Informatics ยังได้ร่วมงานวิจัย  และเข้าเยี่ยมชมแลบปฏิบัติการของ  National Institute of Genetics ซึ่งเป็นองค์กรแห่งชาติของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงอีกด้วย ซึ่งเป็นแลบวิจัยทางด้าน Bio informatics  ทำให้มองเห็นภาพว่าหลายองค์กรแห่งชาติจับมือช่วยเหลือในด้านกันวิจัยเป็นพันธมิตรอย่างแท้จริง   ซึ่งเป็นอะไรที่ดูแข็งแกร่งดี  



เหมือนสุภาษิตที่ว่า นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน  หมายความว่า นกที่ไม่มีขนก็ไม่สามารถบินสู่ที่สูงได้ ฉันใด คนที่ไม่มีเพื่อนหรือไม่มีพันธมิตรก็ยากที่จะสำเร็จ  ดังนั้นทีมงานวิจัยนั้นสำคัญมากและสำคัญที่สุดในการทำโครงงานขนาดใหญ่    

นอกจากนี้การเดินทางไปวิจัยที่โตเกียวในครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนค่าเดินทางจาก TGIST  ที่หยิบยื่นโอกาส การก้าวไปสู่ภายนอก เพื่อให้ได้รับมุมมองแนวคิด แบบใหม่ และประสบการณ์การใช้ชีวิต ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงศักยภาพของตัวนิสิตและโครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ในสร้างผลกระทบทางที่ดี (Impact factor) ต่อไปในอนาคต

 


ขอขอบคุณเพื่อนที่ไทย ตลอดจนพี่ๆทีมงาน TGIST ทุกคน พี่หนิง อุไร ที่ให้คำปรึกษาต่างๆ และทุน TGIST ที่ให้ทุนค่าเดินทางและที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการเดินทางมาที่โตเกียวของข้าพเจ้า 

ตลอดจนกำลังใจต่างๆจากพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูง ที่ทักทายผ่านไลน์มาเสมอว่า  หนาวไหม สบายดีไหม  ทานข้าวหรือยัง ในช่วงที่ทำวิจัย  มันทำให้มีกำลังใจอย่างมาก มันเป็นกำลังใจที่ดี ที่เติมความชุ่มชื่นในหัวใจที่เหือดแห้ง   แม้ว่าจะมีภาวะเครียดจากปัญหาอุปสรรคหลายอย่างที่เกิดขึ้น   


สุภาษิตที่ว่า อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่ในหมู่มิตรให้ระวังวาจา เป็นสุภาษิตที่สอนตนเองอยู่เสมอ ว่าอย่าฟุ้งซ่าน ไม่มีใครทำร้ายอะไรเราได้หรอก  เท่ากับที่เราคิดฟุ้งซ่านทำร้ายตัวเราเอง การคิดในแง่บวกว่า ใกล้อีกนิดแล้วจะถึงฝั่งฝันนี้คือ ความคิดที่ถูกเนรมิตขึ้นมาเพื่อสร้างกำลังใจให้ตนเอง  ทำให้ฝ่าฝันสิ่งต่างๆมาได้ 






 หกเดือนหรือครึ่งปีของการฝึกงาน แม้จะเป็นระยะเวลาที่สั้นนัก แต่ก็ได้ตั้งใจ ปฏิบัติการวิจัยกับอาจารย์  Kitamoto   อย่างเต็มความสามารถที่สุด  ตรงต่อเวลา รักษากฏระเบียบจนเป็นที่ชื่นชม และไม่เคยขาดประชุม ร่วมกิจกรรมของแลบญี่ปุ่นทุกอย่าง 

รวมถึงอาจารย์ Kitamoto ก็ได้หยิบยื่นงานชิ้นสำคัญให้ที่ได้ไปร่วมวิจัยและประชุมนอกสถานที่กับองค์กรภายนอก และในระหว่างทำงานวิจัยที่โตเกียวได้ทำงานที่ไทยไปพร้อมกันด้วยคือ เขียนและเตรียมวารสาร พร้อมกันไปด้วย


การมาฝึกงานครั้งนี้ จึงเป็นอะไรที่คุ้มค่ามากมาก ได้เรียนรู้อะไรมากมาย และที่สำคัญคือ ได้รับรู้ว่าทำอย่างไร  จึงจะสร้างความสุขในการใช้ชีวิตบนโลกภายนอกและการทำงานวิจัยควบคู่กันไปอย่างเหมาะสม